วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561

กระบวนการต่างๆ โดย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ

กระบวนการต่างๆ โดย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ


 แนวคิดเกี่ยวกับทักษะกระบวนการ    
      กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ กรมสามัญศึกษาและกรมศึกษาเอกชน ได้สนับสนุนให้มีการพิจารณานำกระบวนการเรียนรู้แบบต่างๆไปใช้ในการเรียนการสอน โดยเสนอแนะกระบวนการที่ครูควรใช้ 12 กระบวนการด้วยกัน ดังนี้
            1. ทักษะกระบวนการ 9 ขั้น
           2. กระบวนการสร้างความคิดรวบยอด


           3. กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
           4. กระบวนการแก้ปัญหา
           5. กระบวนการสร้างความตระหนัก
           6. กระบวนการปฏิบัติ
           7. กระบวนการคณิตศาสตร์
           8. กระบวนการเรียนภาษา
           9. กระบวนการกลุ่ม
           10. กระบวนการสร้างเจตคติ
           11. กระบวนการสร้างค่านิยม
           12. กระบวนการเรียนความรู้ความเข้าใจ

            กระบวนการต่างๆ ยังมีอีกมากแต่ละกระบวนการไม่ได้กำหนดขั้นตอนไว้ตายตัว เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องมีขั้นตอนเอาไว้เป็นแนวทางดังนี้
           1. ทักษะกระบวนการ มีขั้นตอนดังนี้
                 1.1 ตระหนักในปัญหาและความจำเป็น
                  ครูยกสถานการณ์ตัวอย่างให้ผู้เรียนเข้าใจและตระหนักในปัญหา ความจำเป็นของเรื่องที่จะศึกษาหรือเห็นประโยชน์ ความสำคัญของการศึกษานั้นๆ โดยครูอาจนำเสนอเป็นกรณีตัวอย่าง หรือสถานการณ์ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาความขัดแย้งของเรื่องที่จะศึกษาโดยใช้สื่อประกอบ เช่นรูปภาพ วิดีทัศน์ สถานการณ์จริง กรณีตัวอย่าง สไลด์ ฯลฯ
                 1.2 คิดวิเคราะห์วิจารณ์
                  ครูกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ วิจารณ์ ตอบคำถาม แบบฝึกหัด ข้อมูลและให้โอกาสผู้เรียนแสดงความคิดเห็นเป็นกลุ่ม หรือรายบุคคล
                 1.3 สร้างทางเลือกให้หลากหลาย
                 เป็นโอกาสให้ผู้เรียนแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหาอย่างหลากหลายโดยร่วมกันคิดเสนอทางเลือก และอภิปรายข้อดีข้อเสียของทางเลือกนั้นๆ
                 1.4 ประเมินและเลือกทางเลือก
ให้ผู้เรียนพิจารณาตัดสินเลือกแนวทางในการแก้ปัญหาโดยร่วมกันสร้างเกณฑ์ที่ต้องนึกถึงปัจจัย วิธีดำเนินการ ผลผลิต ข้อจำกัด ความเหมาะสม กาลเทศะ เพื่อใช้ในการพิจารณาการเลือกแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งอาจใช้วิธีระดมพลังสมอง อภิปราย ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม
                 1.5 กำหนดและลำดับขั้นตอนการปฏิบัติ
                 ให้ผู้เรียนวางแผนการทำงานของตนเองหรือกลุ่ม อาจใช้ลำดับขั้นการดำเนินงานดังนี้
                        1.5.1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน
                        1.5.2 กำหนดวัตถุประสงค์
                        1.5.3 กำหนดขั้นตอนการทำงาน
                        1.5.4 กำหนดผู้รับผิดชอบ (กรณีทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม)
                        1.5.5 กำหนดระยะเวลาการทำงาน
                        1.5.6 กำหนดวิธีการประเมินผล
                  1.6 ปฏิบัติด้วยความชื่นชม
                  เป็นโอกาสให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ด้วยความสมัครใจ ตั้งใจมีความกระตือรือร้นและเพลิดเพลินกับการทำงาน
                  1.7 ประเมินระหว่างปฏิบัติ
ผู้เรียนได้สำรวจปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานโดยการซักถามอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามขั้นตอนและตามแผนที่กำหนดไว้ โดยสรุปผลการทำงานแต่ละช่วง แล้วนำเสนอแนวทางการปรับปรุงการทำงานขั้นต่อไป
                  1.8 ปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
ผู้เรียนนำผลที่ได้จากการประเมินในแต่ละขั้นตอนมาเป็นแนวทางในการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
                  1.9 ประเมินผลรวมเพื่อให้เกิดความภูมิใจ
ผู้เรียนสรุปผลการดำเนินงาน โดยการเปรียบเทียบผลงานกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้และผลพลอยได้อื่นๆ ซึ่งอาจเผยแพร่ขยายผลงานแก่ผู้อื่นได้รับด้วยความเต็มใจ

         2. กระบวนการสร้างความคิดรวบยอด มีขั้นตอนดังนี้
                    2.1 สังเกต
                    ให้ผู้เรียนรับรู้ข้อมูล และศึกษาด้วยวิธีการต่างๆโดยใช้สื่อประกอบเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดข้อกำหนดเฉพาะด้วยตนเอง
                    2.2 จำแนกความแตกต่าง
                    ให้ผู้เรียนบอกข้อแตกต่างของสิ่งที่รับรู้และให้เหตุผลในความแตกต่างนั้น
                    2.3 หาลักษณะร่วม
                    ผู้เรียนมองเห็นความเหมือนในภาพของสิ่งที่รับรู้และสรุปเป็นวิธีการ หลักการ คำจำกัดความ นิยามได้
                    2.4 ระบุชื่อความคิดรวบยอด
                    ผู้เรียนได้ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งที่รับรู้
                    2.5 ทดสอบและนำไปใช้
                    ผู้เรียนได้ทดลอง ทดสอบ สังเกต ทำแบบฝึกหัด ปฏิบัติ เพื่อประเมินความรู้
          3. กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นความสามารถทางกระบวนการทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ เกิดความจำ เข้าใจ จนถึงขั้นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่าตามแนวของ BLOOM แนวหนึ่ง อีกแนวหนึ่งเป็นแนวคิดของ GAGNE ที่เป็นกระบวนการเริ่มจากสัญลักษณ์ทางภาษาจนโยงเป็นความคิดรวบยอด เป็นกฎเกณฑ์และนำกฎเกณฑ์ไปใช้และเพื่อให้ง่ายต่อการสอนซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เป็นขั้นๆ อาจจะเลือกใช้เทคนิคใดก่อนหลังก็ได้ขึ้นอยู่กับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน แต่ควรพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนผ่านขั้นตอนย่อยทุกขั้นตอน
                    3.1 สังเกต
                    เน้นการให้ทำกิจกรรมรับรู้แบบปรนัย เข้าใจ ได้ความคอดรวบยอด เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ สรุปเป็นใจความสำคัญครบถ้วน ตรงตามหลักฐานข้อมูล
                    3.2 อธิบาย
                    ให้ผู้เรียนตอบคำถาม แสดงความคิดเห็น เชิงเห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กำหนดเน้นการใช้เหตุผลด้วยหลักการกฎเกณฑ์ อ้างหลักฐานข้อมูลประกอบให้น่าเชื่อถือ
                    3.3 รับฟัง
                    ให้ผู้เรียนได้ฟังความคิดเห็นได้ตอบคำถามวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นที่มีต่อความคิดของตน เน้นการปรับเปลี่ยนความคิดเดิมของตนตามเหตุผลหรือข้อมูลที่ดี โดยไม่ใช้อารมณ์หรือดื้อเพ่งต่อความคิดเดิม
                    3.4 เชื่อมโยงความสัมพันธ์
                    ให้ผู้เรียนได้เปรียบเทียบความแตกต่าง และความคล้ายคลึงของสิ่งต่างๆให้สรุปจัดกลุ่มสิ่งที่เป็นพวกเดียวกัน เชื่อมโยงเหตุการณ์เชิงหาเหตุและผล หากกฎเกณฑ์การเชื่อมโยงในลักษณะอุปมาอุปมัย
                    3.5 วิจารณ์
                    จัดกิจกรรมให้วิเคราะห์เหตุการณ์ คำกล่าว แนวคิด หรือการกระทำ แล้วให้จำแนกหาจุดเด่น – จุดด้อย ส่วนดี- ส่วนเสีย ส่วนสำคัญ-ไม่สำคัญ จากสิ่งนั้นด้วยการยกเหตุผลหลักการมาประกอบการวิจารณ์
                    3.6 สรุป
                    จัดกิจกรรมให้พิจารณาส่วนประกอบของการกระทำหรือข้อมูลต่างๆที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน แล้วให้สรุปผลอย่างตรงและถูกต้องตามหลักฐานข้อมูล

          4. กระบวนการแก้ปัญหา               
                     4.1 สังเกต
                    ให้นักเรียนได้ศึกษาข้อมูล รับรู้และทำความเข้าใจในปัญหาจนสามารถสรุปตระหนักในปัญหานั้น
                    4.2 วิเคราะห์
ให้ผู้เรียนได้อภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อแยกแยะประเด็นปัญหา สภาพสาเหตุและลำดับความสำคัญของปัญหา
                    4.3 สร้างทางเลือก
                    เป็นโอกาสให้ผู้เรียนแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหาอย่างหลากหลาย ซึ่งอาจมีการทดลอง ค้นคว้า ตรวจสอบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบกรณีที่ให้นักเรียนทำกิจกรรมกลุ่มควรมีการกำหนดหน้าที่ในการทำงาน
                    4.4 เก็บข้อมูลประเมินทางเลือก
ผู้เรียนได้ปฏิบัติตามแผนและบันทึกการปฏิบัติงาน เพื่อรายงานและตรวจสอบความถูกต้องของทางเลือก
                    4.5 สรุป
                    เป็นการสังเคราะห์ความรู้ด้วยตนเอง อาจจัดทำในรูปของรายงาน

          5. กระบวนการสร้างความตระหนัก                 
เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนให้ความสนใจ เอาใจใส่ รับรู้ เห็นคุณค่าในปรากฏการณ์พฤติกรรมต่างๆทั้งที่เป็นรูปธรรม นามธรรม ที่เกิดขึ้นในสังคม มีขั้นตอนดังนี้
                    5.1 สังเกต
                    ให้ข้อมูลที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ เอาใจใส่ และเห็นคุณค่า
                    5.2 วิจารณ์
                    ให้ตัวอย่าง สถานการณ์ ประสบการณ์ตรง เพื่อให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์สาเหตุผลดีผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น ระยะยาว
                    5.3 สรุป
                    ให้อภิปรายหาข้อมูลหรือหลักฐานมาสนับสนุนคุณค่าของสิ่งของที่จะต้องตระหนักและวางเป้าหมายที่จะพัฒนาตนเองในเรื่องนั้น
           6. กระบวนการปฏิบัติ
เป็นกระบวนการที่มุ่งให้ผู้เรียนปฏิบัติจนเกิดทักษะ มีขั้นตอนดังนี้
                    6.1 สังเกตรับรู้
                    ให้ผู้เรียนได้เห็นตัวอย่างหลากหลายจนเกิดความเข้าใจและสรุปความคิดรวบยอด
                    6.2 ทำตามแบบ
                    ทำตามตัวอย่างที่แสดงให้เห็นทีละขั้นตอนจากขั้นพื้นฐานไปสู่งานที่ซับซ้อนขึ้น
                    6.3 ทำเองโดยไม่มีแบบ
                    เป็นการให้ฝึกปฏิบัติชนิดครบถ้วนกระบวนการทำงาน ตั้งแต่ต้นจนจนด้วยตนเอง
                    6.4 ฝึกให้ชำนาญ
                    ให้ปฏิบัติด้วยตนเองจนเกิดความชำนาญ หรือทำได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจเป็นงานชิ้นเดิมหรืองานที่คิดขึ้นใหม่

            7. กระบวนการคณิตศาสตร์
 กระบวนการนี้มี 2 วิธี คือสอนทักษะทางคิดคำนวณและสอนทักษะแก้ปัญหาโจทย์การสอนทักษะทางคิดคำนวณมีขั้นตอนย่อย คือ สร้างความคิดรวบยอดของคำ นิยามศัพท์ สอนกฎโดยวิธีอุปนัย (สอนจากตัวอย่างไปสู่กฎเกณฑ์ใหม่) ฝึกฝนวินิจฉัยปรับปรุง แก้ไขข้อบกพร่องและเสริมแรง
ส่วนการสอนทักษะแก้ปัญหาโจทย์ มีขั้นตอนย่อยคือ แปลโจทย์ในเชิงภาษา หาวิธีแก้ปัญหาโจทย์ วางแผน ปฏิบัติตามขั้นตอน และตรวจสอบคำถาม

            8. กระบวนการเรียนภาษา  เป็นกระบวนการที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาทักษะทางภาษา มีขั้นตอนดังนี้
                    8.1 ทำความเข้าใจสัญลักษณ์ สื่อ รูปภาพ รูปแบบ เครื่องหมาย ผู้เรียนรับรู้เกี่ยวกับความหมายของคำ กลุ่มคำ ประโยคและถ้อยคำ สำนวนต่างๆ
                    8.2 สร้างความคิดรวบยอด
                    ผู้เรียนเกิดการเชื่อมโยงความรู้จากประสบการณ์ มาสู่ความเข้าใจและเกิดภาพรวมเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนด้วยตนเอง
                    8.3 สื่อความหมาย ความคิด
                    ผู้เรียนถ่ายทอดทางภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้
                    8.4 พัฒนาความสามารถ
                    ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามขั้นตอนคือความรู้ความจำ เข้าใจ นำไปใช้วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่าได้

           9. กระบวนการกลุ่ม 
เป็นกระบวนการมุ่งให้ผู้เรียนทำงานร่วมกัน โดยเน้นกิจกรรมดังนี้
                    9.1 มีผู้นำกลุ่ม ซึ่งอาจผลัดเปลี่ยนกัน
                    9.2 วางแผนกำหนดวัตถุประสงค์และวิธีการ
                    9.3 รับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกทุกคนบนพื้นฐานของเหตุผล
                    9.4 แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ เมื่อมีการปฏิบัติ
                    9.5 ติดตามผลการปฏิบัติและปรับปรุง
                    9.6 ประเมินผลรวมและชื่นชมในผลงานของคณะ
          10. กระบวนการสร้างเจตคติ
 มีแทรกได้กับทุกเนื้อหา เน้นความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งที่เรียนอาจเป็นความคิด หลักการ การกระทำเหตุการณ์ สถานการณ์ ฯลฯ มีขั้นตอนดังนี้
                    10.1 สังเกต
                    พิจารณาข้อมูล เหตุการณ์ การกระทำที่เกี่ยวข้องกับการมีเจตคติที่ดีและเจตคติที่ไม่ดี
                     10.2 วิเคราะห์
                    พิจารณาผลที่จะเกิดขึ้นตามมา แยกเป็นการกระทำที่เหมาะสมได้ผลตามที่น่าพอใจและกระทำที่ไม่เหมาะสมได้ผลตามที่ไม่น่าพอใจ
                    10.3 สรุป
                    รวบรวมข้อมูลเป็นหลักการ แนวคิด แนวปฏิบัติด้วยเหตุผลของความพอใจ

            11. กระบวนการสร้างค่านิยม
 เป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึก เกิดความยอมรับและเห็นคุณค่าด้วยตนเอง มีขั้นตอนดังนี้
                    11.1 สังเกต ตระหนัก
                    พิจารณาการกระทำที่เหมาะสมและการกระทำที่ไม่เหมาะสม รับรู้ความหมายจำแนกการกระทำที่แตกต่างได้
                    11.2 ประเมินเชิงเหตุผล
                    ใช้กระบวนการกลุ่มอภิปรายแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์วิจารณ์การกระทำของตัวละคร หรือบุคคลในสถานการณ์ต่างๆว่าเหมาะสมหรือไม่เพราะเหตุใด
                    11.3 กำหนดค่านิยม
                    สมาชิกแต่ละคนแสดงความเชื่อ ความพอใจในการกระทำที่ควรกระทำในสถานการณ์ต่างๆพร้อมเหตุผล
                    11.4 วางแผนปฏิบัติ
                    กลุ่มช่วยกันกำหนดแนวปฏิบัติในสถานการณ์จริงๆโดยมีครูร่วมรับทราบกติกา การกระทำและสำรวจสิ่งที่ผู้เรียนต้องการจะได้รับเมื่อได้กระทำดีแล้ว เช่น การได้ประกาศชื่อให้เป็นที่ยอมรับ
                    11.5 ปฏิบัติด้วยความชื่นชม
                    ครูให้การเสริมแรงตามกติการะหว่างการปฏิบัติให้ผู้เรียนเกิดความชื่นชม ยินดี

            12. กระบวนการเรียน ความรู้ความเข้าใจ
 ใช้กับการเรียนเนื้อหาเชิงความรู้ตามความจริง มีขั้นตอนดังนี้
                    12.1 สังเกต ตระหนัก
                    พิจารณาข้อมูล สาระความรู้ เพื่อความสร้างความคิดรวบยอด กระตุ้นให้ตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต สังเคราะห์ข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ และกำหนดเป็นวัตถุประสงค์เป็นแนวทางที่จะแสวงหาคำตอบต่อไป
                    12.2 วางแผนปฏิบัติ
                    นำวัตถุประสงค์หรือคำถามที่ทุกคนสนใจจะหาคำตอบมาวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม
                    12.3 ลงมือปฏิบัติ
                    กำหนดให้สมาชิกในกลุ่มย่อย ๆ ได้แสวงหาคำตอบจากแหล่งความรู้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ค้นคว้า ศึกษานอกสถานที่ หาข้อมูลจากองค์กรในชุมชน ฯลฯ ตามแผนที่วางไว้
                    12.4 พัฒนาความรู้ความเข้าใจ
                    นำความรู้ที่ได้มารายงานและอภิปรายเชิงแปลความ ตีความ ขยายความ นำไปใช้วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่า
                    12.5 สรุป
                    รวบรวมเป็นสาระที่ควรรู้บันทึกลงสมุดของผู้เรียน


กระบวนการสอนค่านิยมและจริยธรรม

กระบวนการสอนค่านิยมและจริยธรรม


     เมื่อกล่าวถึงคำว่า  “คุณธรรม”  และ  “จริยธรรม”  คงเป็นคำที่คนทั่วไปรู้จักกันดีแต่จะมีสักกี่คนที่รู้ถึงความหมายของคำ  2  คำนี้อย่างถ่องแท้จนสามารถพัฒนาตนให้เป็นคนเก่ง  ดี   มีสุข   ได้ตามเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาที่มุ่งหวังให้ประชาชนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าว  เนื่องจากการที่บุคคลเป็นคนเก่งอย่างเดียวมิใช่คุณสมบัติของพลเมืองที่น่าปรารถนา  เพราะการเป็นคนเก่งแต่ไร้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมจะนำพาสังคมและประเทศชาติล่มจม   ดังนั้นการพัฒนาให้เยาวชน  ตลอดจนประชาชนในประเทศเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมสูงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งและต้องเป็นไปอย่างถูกวิธีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

     ประชาชนและนักวิชาการนอกสาขาจิตวิทยามักมีความสับสนระหว่างคำว่า         “ค่านิยม”  “คุณธรรม”  และ “จริยธรรม”  และมักใช้ทั้ง  3  คำนี้ทดแทนกัน  ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทยเป็นไปอย่างผิดทิศทาง   การสับสนของความหมายทั้ง  3  คำนี้ตลอดจนใช้คำทั้ง  3  คำนี้ทดแทนกันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  เนื่องจากคำทั้ง  3  คำนี้มีความหมายที่แตกต่างกัน  คือ  “ค่านิยม”  หมายถึง  สิ่งที่คนส่วนใหญ่   เห็นว่ามีความสำคัญจึงเลือกที่จะปฏิบัติตามความเห็นเช่นนั้น  เช่น  ค่านิยมที่จะต้องจบการศึกษาขั้นสูงเพราะเห็นความสำคัญของการศึกษาที่จะเป็นประตูเปิดไปสู่อนาคตที่ดีกว่า   ค่านิยมไทยเพราะเห็นความสำคัญของ      การอนุรักษ์วัฒนธรรมและมรดกของไทย  เป็นต้น  “คุณธรรม”  หมายถึง  สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าดีงามถูกต้อง  โดยมากมักเกี่ยวข้องกับหลักธรรมทางศาสนา  เช่น  ความเสียสละ  ความสามัคคี  ความซื่อสัตย์  ความรับผิดชอบ ความมีวินัย  เป็นต้น   ส่วน “จริยธรรม”  หมายถึง  เจตนาของการกระทำหรือไม่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด  โดยการตัดสินใจนั้นจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อใครหรือลดผลเสียต่อใครเป็นหลัก  ถ้าเอื้อประโยชน์หรือลดผลเสียแก่คนส่วนใหญ่จะแสดงถึงความมีจริยธรรมสูง   การเผชิญกับการตัดสินใจในลักษณะนี้  มักปรากฏเมื่อบุคคลตกอยู่ท่ามกลาง   ความขัดแย้งของคุณธรรมมากกว่า  2  ประการขึ้นไป   เช่น  ความขัดแย้งระหว่างความกตัญญูกับความถูกต้องยุติธรรม สอดคล้องกับงานวิจัยของพรรณทิพย์  ศิริวรรณบุศย์ ที่ศึกษาเรื่องจริยธรรม  โดยศึกษาถึงความเชื่อทางจริยธรรมของคนไทยในยุคปัจจุบันพบว่า คนไทยมีความเชื่อทางจริยธรรมที่ดี  รู้ว่าอะไรถูกผิด  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ  ขาดความสอดคล้องระหว่างความเชื่อกับพฤติกรรมที่เคยทำและจะทำต่อไป  จึงทำให้เกิดจริยธรรมสองมาตรฐานระหว่างจริยธรรมที่กำหนดว่า อยากเห็นคนอื่นทำกับจริยธรรมของส่วนบุคคล   ดังนั้นจึงเป็นการยากลำบากสำหรับบุคลในการที่จะตัดสินใจเลือก  ทั้งนี้ในเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมยังมีปัจจัยอีกหลายด้านที่มีส่วนในการตัดสินใจต่อการแสดงพฤติกรรมของบุคคล   ซึ่งเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมนี้มีบุคคลในแวดวงวิชาการ  ตลอดจนนักวิจัยที่ได้ทำการศึกษาอย่างมากมายมาเป็นเวลานาน

    จากการที่ผู้เขียนมีความสนใจศึกษาค้นคว้า  ตลอดจนทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมกับรูปแบบการพัฒนา   โดยการสังเคราะห์เอกสารพบว่ามีรูปแบบการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมที่น่าสนใจมากมายซึ่งล้วนแต่ผ่านกระบวนวิจัยมาโดยทั้งสิ้น ดังเช่นรายการวิจัยเรื่อง “การศึกษารูปแบบและวิธีการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม”  โดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มประชากรที่เป็นผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมโดยตรงจากหน่วยงานต่าง ๆ  จำนวน 252  หน่วยงาน   โดยแบ่งเป็น  3  กลุ่ม  ได้แก่ กลุ่มที่ 1  เป็นส่วนราชการที่เป็นกระทรวง  ทบวง  กรมต่าง ๆ  จำนวน  141  ส่วนราชการ  ในจำนวนนี้เก็บข้อมูลกลับคืนมาได้  98  ส่วนราชการ  คิดเป็นร้อยละ  69.50  กลุ่มที่ 2  ส่วนจังหวัด  จำนวน  76  จังหวัด  ในจำนวนนี้เก็บข้อมูลกลับคืนมาได้  47 จังหวัด  คิดเป็นร้อยละ  61.84   และกลุ่มที่  3  สถาบันการศึกษา  จำนวน  35  แห่ง ในจำนวนนี้เก็บข้อมูลกลับคืนมาได้  19  แห่ง  ผลการศึกษาวิจัยพบว่า  รูปแบบที่ใช้พัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมในหน่วยงานมากที่สุด  ได้แก่  รูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไปตาม   ความเหมาะสมและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง   รองลงมา  ได้แก่  รูปแบบที่ไม่เปลี่ยนแปลงและใช้รูปแบบที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา   ส่วนวิธีการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมในหน่วยงาน  พบว่า ใช้วิธีการฝึกอบรมมากที่สุด  รองลงมาตามลำดับได้แก่   วิธีการบรรยายพิเศษ   การสัมมนา  การจัดทัศนศึกษาดูงานและวิธีการใช้กิจกรรมกลุ่ม   วิธีการที่ใช้น้อยที่สุดคือ   แข่งขันตอบปัญหา   รองลงมา  ได้แก่   การเลือกตัวอย่าง   การสาธิต   การประกวดคำขวัญและการอภิปราย   นอกจากนี้ยังพบอีกว่า วิธีการที่ใช้พัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมอื่น ๆ  ได้แก่  การหาสื่อต่าง ๆ  เช่น  หนังสือ   เทป (แถบเสียง)   วีดีโอ (แถบภาพ)   มาให้บริการ  ตลอดจนการช่วยแก้ปัญหาและการให้คำปรึกษาแนะนำเป็นรายบุคคล   อีกทั้งยังใช้วิธีการสร้างคำขวัญร่วมกันทั้งหน่วยงาน  เป็นต้น   นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่า การจัดเนื้อหาในการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมมีลักษณะการจัดเป็นหัวข้อเสริมในหลักสูตรมากที่สุด   เวลาที่ใช้ในการพัฒนาแต่ละครั้งใช้เวลา  3  ชั่วโมงเป็นส่วนมาก   การพัฒนานั้นมีกลุ่มเป้าหมายเป็นข้าราชการ    มากที่สุด   มีลักษณะการพัฒนาที่พบมากเป็นแบบต่อเนื่องทุกปี   ในปีหนึ่ง ๆ มีการพัฒนาจำนวน  3  ครั้งมากที่สุด   และจากที่ผ่านมามีจำนวนผู้เข้ารับการพัฒนาจำนวนมากที่สุดถึง  3,000  คน   และในการพัฒนาได้ประสบผลสำเร็จระดับร้อยละ  80  มากที่สุด การพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ข้าราชการเป็นส่วนมาก และรองลงมา  ได้แก่  การพัฒนาทำตามเป้าหมายที่ต้องการตอบสนองต่อนโยบายของหน่วยงาน  ข้อคุณธรรมที่สำคัญและได้มุ่งทำการพัฒนามากที่สุด  ได้แก่  ความรับผิดชอบ   รองลงมา  ได้แก่  ความซื่อสัตย์   ความสำนึกในหน้าที่   ความเสียสละและสุจริตในหน้าที่   จากที่ผ่านมาพบว่า  ข้อคุณธรรมที่สามารถพัฒนาได้สัมฤทธิ์ผลดีมาก  ได้แก่  ความรับผิดชอบ  รองลงมา  ได้แก่  ความซื่อสัตย์   ความสำนึกในหน้าที่  ความสามัคคี   ความมีเหตุมีผลและความเสียสละ  โดยใช้วิธีการพัฒนาในรูปแบบของการจัดหลักสูตรฝึกอบรมมากที่สุด   รองลงมา  ได้แก่  วิธีการจัดการบรรยาย   วิธีการทำกิจกรรมร่วมกัน  ตามลำดับ   และพบว่าวิธีการประเมินผลใช้วิธีการสังเกตขณะดำเนินการพัฒนามากที่สุด   และจาการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมที่ผ่านมาได้ปรากฏผลสำเร็จ  คือ  ข้าราชการเกิดความสามัคคีกัน  ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานมากที่สุด   รองลงมาได้แก่  ข้าราชการมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่มากขึ้นทั้งในการทำงาน  ครอบครัวและสังคม   นอกจากนั้นเป็นความสำเร็จในเรื่องอื่น ๆ   สำหรับในเรื่องของจุดอ่อนหรือปัญหาที่ทำให้การพัฒนาไม่ได้ผล  พบว่า  เกิดจากการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมทำได้กับบุคคลเป็นบางส่วนซึ่งเป็นส่วนน้อย   โดยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกอบรมพัฒนาเนื่องมาจากมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ   เจ้าหน้าที่และสถานที่ไม่พร้อม  เป็นต้น   ทั้งนี้ได้พบว่า  วิธีการแก้ปัญหาอุปสรรคการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมควรมีการพัฒนาอย่างจริงจัง   เน้นความเป็นระบบและทำด้วยความต่อเนื่อง  นอกจากนี้เป็นวิธีการแก้ปัญหาอุปสรรคลักษณะอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไป

     ส่วนรายงานการวิจัยเรื่อง “รูปแบบการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนิสิตนักศึกษา”  พบว่า การพัฒนานิสิตนักศึกษาด้านคุณธรรม  จริยธรรม  ประเด็นทางคุณธรรม  จริยธรรมที่ควรนำมาใช้ในการพัฒนานิสิตนักศึกษา  ได้แก่  ความซื่อสัตย์สุจริต  ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความรอบคอบ  การมีวินัยในตนเอง  คุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต  การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข  ความมุ่งมั่นพากเพียรและพยายาม (ความอดทน อุตสาหะ)  จิตใจของความเป็นผู้ให้  ความรับผิดชอบ  จิตใจที่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมและจรรยาบรรณวิชาชีพ  และเมื่อนำประเด็นต่าง ๆ มาสังเคราะห์เป็นแนวคิดในการพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์แก่นิสิตนักศึกษา  ควรกำหนด   ทิศทางการพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมแก่นิสิตนักศึกษา  ดังนี้  อันดับหนึ่งคือ  จริยธรรมเพื่อการทำงานและการประกอบอาชีพ ได้แก่  มุ่งเน้นในเรื่องคุณธรรมในการทำงานและคุณธรรม  จริยธรรมตามกรอบวิชาชีพ  หรือที่เรียกว่า จรรยาบรรณวิชาชีพ   อันดับสองคือ  จริยธรรมในการดำรงชีวิต  ได้แก่  มุ่งเน้นในเรื่องการเสริมความสามารถในการจัดระเบียบชีวิต  การมีความมุ่งมั่นพากเพียร  ความรับผิดชอบต่อตนเอง  การมีค่านิยมการเรียนรู้  การมีค่านิยมพอเพียง  เรียนรู้ตลอดชีวิตและการเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม  และอันดับสามคือ  จริยธรรมที่มีต่อส่วนรวม  ได้แก่  มุ่งเน้นในเรื่องการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม  จิตใจแห่งการเสียสละและจิตใจของความเป็นผู้ให้   ส่วนลักษณะรูปแบบกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมแก่นิสิตนักศึกษา  ได้แก่            การจัดกิจกรรมฝึกอบรมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะทางจริยธรรมโดยเฉพาะกิจกรรมที่หลากหลายในโครงการเดียว  เพื่อสร้างเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์  เช่น  กิจกรรมสร้างเสริมคุณลักษณะกตัญญูกตเวที เป็นต้น   การจัดกิจกรรมสร้างเสริมจิตสำนึกต่อสถาบัน  เช่น กิจกรรมรำลึกผู้ก่อตั้งสถาบัน เป็นต้น   การจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้นิสิตนักศึกษามีคุณธรรม   การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมที่ดีในตึกพักหรือหอพัก การจัดโครงการกิจกรรมโดยมีนิสิตนักศึกษาจากหลากหลายสาขาวิชาดำเนินกิจกรรมด้านบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน   การจัดกิจกรรมที่ทำให้นิสิตนักศึกษาได้เพิ่มพูนทักษะเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบอย่างชีวิตของบุคคลที่สังคมยกย่อง   การจัดกิจกรรมซึ่งส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาคิดวิเคราะห์  และการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้รับรู้สถานการณ์หนึ่งอันจะก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์จริง       



     รายงานการวิจัยเรื่องสุดท้ายที่จะนำเสนอ คือ เรื่อง “รูปแบบ  ยุทธศาสตร์และแนวทาง   การบูรณาการศาสนากับการศึกษาของวัดในพระพุทธศาสนา : กรณีศึกษาตามอัธยาศัย"  โดยทำการสังเคราะห์ผลการวิจัยกรณีศึกษาการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของวัด จำนวน  23  วัด  ผลการวิจัยพบว่า  รูปแบบกิจกรรมที่จัด  ได้แก่   การจัดสภาพแวดล้อมของวัดให้เป็นแหล่งการเรียนรู้   การจัดศาสนพิธี   พิธีกรรม   กิจกรรมการผลิตสื่อ   การจัดตั้งห้องสมุด   และแหล่งการเรียนรู้แบบต่าง ๆ   การจัดกิจกรรมเชิงวิชาการ   การจัดตั้งเครือข่ายและวัดอาสา   ประเภทของสื่อที่ใช้ได้แก่   สื่อบุคคล   สื่อธรรมชาติ   สื่อสิ่งพิมพ์  สื่อโสตทัศน์   สื่ออิเล็กทรอนิกส์   สื่อเคลื่อนที่หรือ      สื่อกลางแจ้ง   สื่อพื้นบ้านหรือสื่อประเพณีและสื่อชุมชนหรือสื่อท้องถิ่น   ส่วนยุทธศาสตร์การบริหารการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของวัดให้ประสบผลสำเร็จ   มีองค์ประกอบทางการบริหารที่สำคัญคือ  ระบบและรูปแบบการบริหาร  เจ้าอาวาส  บุคลากร  พระสงฆ์  สามเณรและฆราวาส  งบประมาณ เทคโนโลยี  เครื่องมือ  วัสดุอุปกรณ์  สภาพแวดล้อมและความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน   ส่วนแนวทางการบูรณาการการศาสนากับการศึกษาตามอัธยาศัยของวัดเน้นแนวคิดหลัก “บวร” การบูรณาการการศาสนา  ศิลปะ  วัฒนธรรม  การศึกษา  ภูมิปัญญาไทย  อาชีพกับวิถีชีวิต เป็นองค์รวมความสัมพันธ์ในลักษณะการพึ่งพาซึ่งกัน    และกัน  การสร้างความร่วมมือและเครือข่าย  ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของวัดเน้นการบริหารจัดการ  ผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้  รูปแบบกิจกรรม  สื่อ  องค์กร  และการบูรณาการศาสนากับการศึกษา

     จากการนำเสนอรายงานการวิจัยทั้ง 3 เรื่องจะเห็นได้ว่า  ไม่ว่าจะเป็นสถาบันข้าราชการ  สถาบันการศึกษา  และสถาบันศาสนาต่างให้ความสำคัญกับเรื่องคุณธรรม  จริยธรรมกับการพัฒนาทั้งสิ้น  โดยมีรูปแบบคล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก   ซึ่งสถาบันเหล่านี้มุ่งเน้นการตอบสนองต่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ.  พ.ศ. 2542    มาตรา 6   ที่กล่าวถึง   การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย   จิตใจ   สติปัญญา   ความรู้และคุณธรรม   มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต   สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข   และมาตรา 23   กล่าวถึง   การจัดการศึกษา   ทั้งการศึกษาในระบบ   การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย   ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้  คุณธรรม  และมาตรา 24   การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการเรียนการสอน   โดยผสมผสานสาระความรู้ต่าง ๆ   อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน   รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม   ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา และตอบสนองต่อแผนการแผนการศึกษาแห่งชาติ  พศ.2545-2559  ที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้สามประการคือ  การพัฒนาคนอย่างรอบด้านและสมดุล  สร้างสังคมคุณธรรม  ภูมิปัญญาและการเรียนรู้และพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคม   ตลอดจนตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10  พ.ศ.2550-2554  ในยุทธศาสตร์ที่ 1  คือ  ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้  ที่กำหนดไว้เพื่อการพัฒนาคนให้มีคุณธรรมนำความรู้  เกิดภูมิคุ้มกัน   เพื่อการเสริมสร้างสุขภาวะคนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ  มีความสัมพันธ์ทางสังคมและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่   และเพื่อ   การเสริมสร้างคนไทยให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข

     จากที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น  คุณธรรมและจริยธรรมกับรูปแบบการพัฒนาเป็นสิ่งที่สำคัญและควรมีการส่งเสริมอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของเยาวชน  ตลอดจนประชาชนในประเทศเพื่อให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการเสริมสร้างสังคมให้ยั่งยืนต่อไป



หมายเหตุ  ส่วนหนึ่งของการวิจัย  ในส่วนของการสังเคราะห์  และลงครุจันทรสาร


ชุดที่ 7

วิชา การออกแบบและการจัดการเรียนรู้     ประจำภาคเรียนที่ 2 / 25 60        โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร . พิจิตรา ธงพานิช                     ...