รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นโดยนักการศึกษาไทย
รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการคิดเป็นเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมไทย โดย หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา
- ก. ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ
หน่วยศึกษานิเทศก์
กรมสามัญศึกษา (2537) ได้พัฒนารายวิชา “การคิดเป็น
เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมไทย” ขึ้น
เพื่อพัฒนานักเรียนระดับมัธยมศึกษาให้สามารถคิดเป็น
รู้จักและเข้าใจตนเอง
รายวิชาประกอบด้วยเนื้อหา 3 เรื่อง คือ (1) การพัฒนาความคิด (สติปัญญา)
(2) การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม (สัจธรรม) (3) การพัฒนาอารมณ์
ความรู้สึก
ส่วนกิจกรรมที่ใช้เป็นกิจกรรมปฏิบัติการ 4 กิจกรรม ได้แก่ (1) กิจกรรมปฏิบัติการ “ พัฒนากระบวนการคิด”
(2) กิจกรรมปฏิบัติการ “พัฒนารากฐานความคิด”
(3) กิจกรรมปฏิบัติการ “ปฏิบัติการในชีวิตจริง” และ (4) กิจกรรมปฏิบัติการ “ประเมินผลการพัฒนาประสิทธิภาพของชีวิตและงาน”
ในส่วนกิจกรรมปฏิบัติการพัฒนากระบวนการคิด
หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา ได้พัฒนาแบบแผนในการสอนซึ่งประกอบด้วยขั้นการสอน 5 ขั้น
โดยอาศัยแนวคิดเกี่ยวกับ
การคิดเป็น
ของ โกวิท วรพิพัฒน์ (อ้างถึงใน อุ่นตา นพคุณ, 2530: 29-36) ที่ว่า “คิดเป็น” เป็นการแสดงศักยภาพของมนุษย์ในการชี้นำชะตาชีวิตของตนเอง
โดยการพยายามปรับตัวเองและสิ่งแวดล้อมให้ผสมผสานกลมกลืนกัน ด้วยกระบวนการแก้ปัญหา
ซึ่งประกอบด้วยการพิจารณาข้อมูล 3 ด้าน ได้แก่
ข้อมูลตนเอง ข้อมูลสังคมและสิ่งแวดล้อม และข้อมูลทางวิชาการ
เพื่อเป้าหมายที่สำคัญคือมีความสุข
- ข. วัตถุประสงค์ของรูปแบบ
รูปแบบนี้มุ่งช่วยพัฒนากระบวนการคิด
ให้ผู้เรียนสามารถคิดเป็น คือคิดโดยพิจารณาข้อมูล 3 ด้าน ได้แก่
ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ข้อมูลสังคมและสิ่งแวดล้อม และข้อมูลทางวิชาการ
เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตในสังคมไทยอย่างมีความสุข
- ค. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
ขั้นที่ 1 ขั้นสืบค้นปัญหา
เผชิญสถานการณ์ในวิถีการดำรงชีวิต ผู้สอนอาจนำเสนอสถานการณ์ให้ผู้เรียนสืบค้นปัญหา
หรืออาจใช้สถานการณ์และปัญหาจริงที่ผู้เรียนประสบมาในชีวิตของตนเอง
หรือผู้สอนอาจจัดเป็นสถานการณ์จำลอง
หรือนำผู้เรียนไปเผชิญสถานการณ์นอกห้องเรียนก็ได้ สถานการณ์ที่ใช้ในการศึกษา
อาจเป็นสถานการณ์เกี่ยวกับตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือหลักวิชาการก็ได้
เช่นสถานการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม ครอบครัว
การเรียน
การทำงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ขั้นที่ 2 ขั้นรวบรวมข้อมูลและผสมผสานข้อมูล 3 ด้าน
เมื่อค้นพบปัญหาแล้วให้ผู้เรียนศึกษาข้อมูลความรู้ต่าง
ๆ ที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์นั้น โดยรวบรวมข้อมูลให้ครบทั้ง 3 ด้าน คือ
ด้านที่เกี่ยวกับตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม และด้านหลักวิชาการ
ขั้นที่ 3 ขั้นการตัดสินใจอย่างมีเป้าหมาย
เมื่อมีข้อมูลพร้อมแล้ว
ให้ผู้เรียนแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหาโดยพิจารณาไตร่ตรองถึงผลที่จะเกิดขึ้นทั้งกับตนเอง
ผู้อื่น และสังคมโดยส่วนรวม และตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด
คือทางเลือกที่เป็นไปเพื่อการเกื้อกูลต่อชีวิตทั้งหลาย
ขั้นที่ 4 ขั้นปฏิบัติและตรวจสอบ
เมื่อตัดสินใจเลือกแนวทางปฏิบัติได้แล้ว
ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองหรือร่วมมือกับกลุ่มตามแผนงานที่กำหนดไว้อย่างพากเพียร
ไม่ท้อถอย
ขั้นที่ 5 ขั้นประเมินผลและวางแผนพัฒนา
เมื่อปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนดไว้ลุล่วงแล้ว
ให้ผู้เรียนประเมินผลการปฏิบัติว่า การปฏิบัติประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด มีปัญหา
อุปสรรคอะไร และเกิดผลดีผลเสียอะไรบ้าง
และวางแผนงานที่จะพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัตินั้นให้ได้ผลสมบูรณ์ขึ้น
หรือวางแผนงานในการพัฒนาเรื่องใหม่ต่อไป
- ง. ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบ
หน่วยศึกษานิเทศก์
กรมสามัญศึกษา (2537) ได้ทดลองใช้รูปแบบดังกล่าวใน
การสอนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาแล้วพบว่า
ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดเป็น สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆได้
มีความเข้าใจในตนเองและผู้อื่นมากขึ้น เข้าใจระบบความสัมพันธ์ในสังคม
และเกิดทักษะและเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น